1. คำแนะนำจากศัลยแพทย์
การติดตามผลการรักษา ศัลยแพทย์จะต้องการพบผู้ป่วยเป็นระยะๆ หลังผ่าตัด
โดยปกติแล้วการติดตามอาการครั้งแรกจะนัดหนึ่งหรือสองสัปดาห์หลังผ่าตัด และจะติดตามในความถี่ที่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป (โดยปกติจะนัดทุก 3 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง และทุก 6 เดือน จนถึง 5 ปี หลังจากนั้นอาจนัดทุก 1-2 ปี)
2. อาหารระหว่างการฟื้นฟูสภาพ
1) เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ฟื้นฟู ผู้ป่วยจะไม่ได้รับประทานอาหารในช่วง 1-3 วันหลังผ่าตัด
แพทย์จะเริ่มให้รับประทานอาหารเหลวจากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาหารบด อาหารอ่อน จนสามารถรับประทานอาหารธรรมดาหรือข้าวสวยได้
โดยปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ของที่เคยรับประทานและอาหารที่บริโภคก็จะแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง
2) การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ประมาณ 1,500-2,000 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งเท่ากับประมาณ 8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
ภาวะการขาดน้ำเป็นภาวะที่อันตราย หากได้รับไม่เพียงพออาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดภาวะไตวายได้
วิธีปฏิบัติที่ง่ายคือ พยายามหาเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ ไว้ใกล้ๆ ตัว และค่อยๆ จิบทีละนิดทุก 15-20 นาที เพื่อให้ได้รับปริมาณที่เพียงพอ
3) ช่วง 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องทานเฉพาะอาหารเหลว เช่น น้ำซุป หรือน้ำผลไม้ ปริมาณอาหารเหลวที่สามารถรับประทานได้ประมาณ 30 มิลลิลิตร หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง
หรือจนรู้สึกแน่น แล้วให้หยุด
4) ใน 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารชนิดที่ต้องปั่นละเอียด และต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง
หรืออาจเติมโปรตีนชนิดผงผสมในอาหารได้ ซึ่งอาหารควรอยู่ในรูปแบบของอาหารบดเหลว ๆ แนะนำให้ทานครั้งละ 30 มิลลิลิตรหรือจนรู้สึกแน่น ให้หยุดจนหายแน่น หรือ
ประมาณทุกๆ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานมากเกินหรือจนอาเจียน ในกรณีที่ไม่สามารถทานอาหารบดปั่นได้ แนะนำให้ใช้
อาหารทางการแพทย์ที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index)
3. การดูแลแผลผ่าตัด
โดยปกติก่อนกลับบ้าน แพทย์จะทำการเปิดดูแผลและเปลี่ยนที่ปิดแผลใหม่ เป็นชนิดที่สามารถกันน้ำได้
ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องระมัดระวัง ถ้าที่ปิดแผลซึมหรือหลุด ให้รีบทำแผลใหม่ ส่วนใหญ่
แล้วแพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจดูแผลที่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผลอีก
อาการบวม ช้ำ และมีเลือดจางๆ ซึมน้อยๆ เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าที่ปิดแผลเปลี่ยนเป็นสีแดงสด และเริ่มมีสิ่งคัดหลั่งออกมาปริมาณมากหรือเปลี่ยนสีหรือขุ่นขึ้น
หรือมีอาการปวด แดงที่แผลมาก ควรติดต่อแพทย์ทันที หลังจากแผลหายสนิท (ประมาณ 2 สัปดาห์) สามารถทาครีมบนแผลเพื่อลดการเกิดรอยแผลเป็น
ได้และถ้าแผลต้องโดนแสงแดดควรทาครีมกันแดดบนแผลด้วย ไม่ยกของหนัก หรือออกกำลังหนัก เช่น ยกน้ำหนัก วิ่ง ขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 4 สัปดาห์
การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้เมื่อรู้สึกพร้อม แต่ให้ระมัดระวังแผลผ่าตัดเป็นพิเศษ ถ้าไม่แน่ใจว่าพร้อมที่จะทำกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่ ให้ปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนเสมอ
4. ผลข้างเคียงในระยะแรกหลังผ่าตัด
• อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังผ่าตัด หลังจากกระเพาะอาหารหายดีแล้ว คุณจะเรียนรู้ว่าอะไรที่กระเพาะอาหารรับได้หรือไม่ได้
ในการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน วิธีการรับประทานอาหารมีความสำคัญเท่าเทียมกับสิ่งที่รับประทาน หลีกเลี่ยงการดื่มและการรับประทานอาหารที่เร็วหรือมากเกินไป
รับประทานคำเล็กๆ และเคี้ยวให้ละเอียด
• ปวดเมื่อยตัว (หรือปวดแผล) จะหายเองตามเวลา ถ้าทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (non-steroidal anti-inflammatory drugs)
เช่น Ibuprofen, Diclofenac หรือ Aspirin เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหาร หรือที่รอยต่อกระเพาะอาหารได้
ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
• อาการอ่อนเพลียหรือรู้สึกเหนื่อย จะหายเองตามเวลา โดยเฉพาะเมื่อสามารถรับประทานอาหารลดน้ำหนักได้อย่างลงตัว
เมื่อรู้สึกพร้อมก็เริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายต่อไปได้
• อาการหนาว อาจเกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกายที่ลดลงตามน้ำหนักตัวที่ลดลง และปริมาณไขมันที่ห่อหุ้มร่างกายมีน้อยลง
• ท้องผูก แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยหรืออาหารเสริมกากใยและเคลื่อนไหวร่างกายก็มีส่วนช่วยได้
• ท้องเสียหรือถ่ายเหลว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ไม่ควรรับประทาน อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง โดยไม่ได้แช่เย็น
แต่ถ้ามีอาการมาก หรือสงสัยกลุ่มอาการดัมปิ้ง (Dumping syndrome) แนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์
• แก๊สในช่องท้อง หรือท้องอืด ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊ส อาทิ ธัญพืช ถั่วชนิดต่างๆ นมสด นมถั่วเหลือง ผักตระกูลกล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง หอมใหญ่ เห็ด เป็นต้น
• เสียงสำไส้และกระเพาะทำงาน ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญ เกิดจากการที่ระบบทางเดินอาหารบีบตัวขับลมออก
วิธีการไม่ให้เกิดเสียงท้องร้องที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการกลืนลมเข้าไป เลี่ยงน้ำอัดลม เลี่ยงการดื่มหรือกินเร็วเกินไปและเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง แนะนำให้ใช้การดูดน้ำด้วยหลอด
• กลุ่มอาการดัมปิ้ง (Dumping Syndrome) ส่วนมากเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบบายพาสเนื่องจากทำให้อาหารผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว
ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียมึนศีรษะ หน้าแดงและร้อน อาการปวดเกร็งช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ใจสั่นและอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย
ซึ่งจะแสดงอาการหลังรับประทานอาหารทันทีหรือไม่นาน ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ โดยการปรับเปลี่ยนอาหารและวิธีการรับประทานอาหาร (สามารถปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการได้)
• เชื้อราในช่องปาก เกิดจากผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ มีอาการคือ มีฝ้าขาวเคลือบลิ้น ลิ้นบวมแดง โรคเชื้อราในปากสามารถรักษาได้ด้วยยา
จึงควรแจ้งแพทย์เมื่อมีอาการ
• การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง เช่น สิว ผิวแห้ง อาการคันตามผิวหนังเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย
การรับประทานอาหารและวิตามินที่เหมาะสมเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด การทาครีมและโลชั่นสามารถช่วยได้ดี แต่ถ้าอาการแย่มากควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
• ผมหรือขนร่วง เกิดจากการลดน้ำหนักอย่างงรวดเร็ว แต่จะเกิดขึ้นชั่วคราว พบในผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ผ่าตัดลดน้ำหนักในปีแรก
ซึ่งเกิดจากการขาดโปรตีนและวิตามินเป็นสำคัญ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการได้ด้วยการรับสารอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามิน ส่วนการ
รักษาอื่น เช่น แชมพูหรือยาลดอาการผมร่วง ก็ช่วยได้เช่นกัน
• สภาพอารมณ์แปรปรวน อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะรู้สึก กลัว ไม่มั่นใจหรืออารมณ์ขุ่นมัว
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและผลกระทบทางอารมณ์จากการเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนจะเป็นผู้ช่วยเหลือและบอกวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาทางด้าน
อารมณ์ ในกรณีที่เป็นมาก โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า วิตกจริต ควรพามาพบจิตแพทย์โดยเร็ว