ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์
การรักษาโรคอ้วนโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อไรจะเรียกว่า " อ้วน" หรือ "อ้วนลงพุง" สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในปัจจุบัน ทำไมต้องรักษา"โรคอ้วน" เกณฑ์ในการผ่าตัด การผ่าตัดโรคอ้วนจะช่วยรักษาอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของการผ่าตัดโรคอ้วน การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคอ้วน คุณจะต้องเจออะไรบ้างระหว่างช่วงนอนโรงพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการดมยาสลบ การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดกระชับรูปร่างภายหลังการผ่าตัดลดความอ้วน
The Center of Excellence in Metabolic and Bariatric Surgery Songklanagarind Hospital

การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด

โดย พว.ดาราวรรณ พรหมจรรย์, พว.นภัทร มูลศาสตร์, นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์, นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล, คุณภัคจิรา เบญญาปัญญา, คุณพรพิศ เรืองขจร, คุณศิริมะโน ชูศรี

1. ทำไมต้องเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด
  ผู้ที่ลดน้ำหนักก่อนการผ่าตัดจะมีแนวโน้มในการลดน้ำหนักได้มากกว่าภายหลังการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการลดน้ำหนักก่อนการผ่าตัด คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ความเคยชินต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง การลดน้ำหนักในระยะยาวให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ถ้ากลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิมภายหลังการผ่าตัด น้ำหนักก็จะกลับมาเหมือนเดิม และปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความอ้วนก็จะกลับมาเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่จะต้องผ่าตัดรักษาโรคอ้วนก็จะไม่ได้รับการผ่าตัดหากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่จำเป็น หากมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดที่ดี ก็จะประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว เป้าหมายในการลดปัญหาสุขภาพของก็จะสำเร็จตามไปด้วย

2. การเตรียมความพร้อมในช่วง 3-6 เดือนก่อนการผ่าตัด
  ขั้นตอนและแนวทางการรักษากับทีมสหสาขา
 • เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มให้ความรู้สำหรับผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
 • รับการตรวจ และรับคำปรึกษาจากแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนกศัลยกรรมผ่าตัดโรคอ้วน แผนกอายุรกรรมโรคต่อมไร้ท่อ แผนกหูคอจมูก แผนกจิตเวช เป็นต้น เพื่อยืนยันว่าเข้าเกณฑ์ในการผ่าตัดรักษา หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัดหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยตรวจหาโรคร่วม (obesity-related diseases)ที่ยังไม่ตรวจพบ และให้การรักษาในกรณีที่มีโรคร่วมอยู่แล้ว
 • ภายหลังจากการตรวจในแผนกที่เกี่ยวข้อง และการทำแบบทดสอบต่างๆ ครบแล้ว ทางทีมผ่าตัดจะทำการยืนยันกับคุณว่าพร้อมทุกขั้นตอนสำหรับการผ่าตัดแล้วหรือไม่ ยังมีปัญหาตรงส่วนใดที่จะช่วยกันแก้ปัญหาได้บ้าง และจะแนะนำว่าต้องทำขั้นตอนใดต่อไป
 • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาล ตัวเลือกการจ่ายค่ารักษา หรือโอกาสที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย โดยรับคำแนะนำได้ที่หน่วยสิทธิประโยชน์ของโรงพยาบาล

  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตก่อนผ่าตัด 3-6 เดือนก่อนผ่าตัด
  ในการลดน้ำหนักในระยะยาว และการลดปัญหาสุขภาพภายหลังการผ่าตัดที่ยั่งยืนนั้น จะต้องเริ่มใช้ชีวิตเหมือนว่าได้ทำการผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนก่อนการผ่าตัด
 • เริ่มจากการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยไม่คำนึงเพียงแต่รสชาติและความสุขในการรับประทาน กระเพาะอาหารภายหลังการผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก และทำให้รับประทานอาหารได้น้อย นั่นคือสิ่งที่ดีสำหรับการลดน้ำหนัก แต่ก็อาจจะให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และหากรับประทานแต่อาหารที่มีคุณค่าสารอาหารต่ำ ก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ หากเราได้มีการฝึกฝนและเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด จะทำให้ปฏบัติได้ง่ายมากภายหลังการผ่าตัด
 • รับประทานโปรตีนให้มากขึ้น โปรตีนเป็นสิ่งสำคัญในการลดน้ำหนัก เพราะโปรตีนจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนาน อีกทั้งยังช่วยรักษากล้ามเนื้อในขณะที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัด
 • รับประทานช้าๆ และเคี้ยวอย่างละเอียด และแบ่งอาหารเป็นส่วนๆ ความรู้สึกอิ่มจะใช้เวลา 20-30 นาที ก่อนจะส่งไปถึงสมอง การรับประทานช้าๆ และเคี้ยวอย่างละเอียดจะช่วยให้รู้สึกว่าร่างกายของไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป การฝึกเช่นนี้ก่อนการผ่าตัดจะช่วยให้การลดน้ำหนักดีขึ้นภายหลังการผ่าตัด
 • เริ่มรับประทานวิตามินรวม ผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัด ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ได้ดีดังเดิม ทำให้บริโภคอาหารได้เพียงเล็กน้อย และต้องการสารอาหารเพิ่มเติม ดังนั้นจึงควรฝึกการรับประทานวิตามินให้เป็นกิจลักษณะ และ ควรปรึกษาศัลยแพทย์ว่าวิตามินตัวใดที่ควรรับประทานเพิ่มเติมบ้าง
 • ไม่ควรดื่มเครืองดื่มพร้อมมื้ออาหาร ภายหลังการผ่าตัดจะต้องคอยอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ภายหลังมื้ออาหารก่อนที่จะดื่มเครืองดื่ม ของเหลวจะสามารถชำระ ล้างอาหารผ่านกระเพาะเล็กๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้รู้สึกหิวเร็ว และเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักเพิ่มกลับมาภายหลัง การผ่าตัดจะมีพื้นที่ในกระเพาะอาหารน้อยลงสำหรับ อาหารและเครืองดื่ม ขั้นตอนนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะในระยะแรกภายหลังการผ่าตัดจะไม่ประสบปัญหาขาดน้ำหรือเป็นโรคขาดสารอาหาร หากรับประทานอาหารและเครืองดื่มแยกออกจากกัน
 • เลิกดื่มน้ำอัดลม หรือเครืองดื่มที่มีน้ำตาล และรับประทานน้ำเปล่าให้มากขึ้น เริ่มดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรหรือมากกว่า การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยผู้ป่วยภายหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว และช่วยให้ไม่ขาดน้ำ วิธีการง่ายๆ คือ การมีน้ำขวดที่พกพาได้ง่าย ติดตัวไปทุกที และนำขึ้นมาดูดหรือจิบ เรือยๆ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ
 • ระมัดระวังในการดื่มกาแฟ กาแฟเพียงเล็กน้อยจะทำให้คุณรู้สึกสบายแต่ถ้ามากเกินไปจะเป็นการทำลายสุขภาพ เพิ่มแคลลอรี่จากน้ำตาลและครีม การปรับเปลี่ยนที่สะดวก ได้แก่การใช้ชาที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนผสมกับน้ำผึ้งเป็นเล็กน้อยก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง
 • หยุดการดื่มแอลกอฮอล์ ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหารภายหลังการผ่าตัด แอลกอฮอล์จะส่งผลต่อร่างกายแตกต่างจากเดิม จะเกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้เร็วขึ้น ความอยากอาหารจะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามมา และส่งผลต่อปัญหาสุขภาพหลายอย่าง บางรายก็อาจจะเกิดปัญหาที่รุนแรง
 • ออกกำลังมากขึ้นกว่าเดิมวันละนิด เริ่มจากช้าๆ ทำในสิ่งที่รู้สึกมีควมสุขเพียงแค่เริ่มเคลื่อนไหว ก็สามารถทนต่อการออกกำลังกายได้ 20-30 นาทีต่อวัน จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด การลดน้ำหนักก่อนการผ่าตัดจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ในระยะยาว
 • หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันขณะผ่าตัด เกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดได้ง่าย และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลบริเวณรอยผ่าตัด ทำให้มีโอกาสเกิดเลือดออกเฉียบพลันจากแผลดังกล่าว และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 • เริ่มเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน สิ่งสำคัญคือการฟังผู้ป่วยที่มีประสบการณ์จริง ที่จะไม่สามารถเข้าใจได้หากไม่ประสบเอง ผู้ป่วยคนอื่นจะสามารถอธิบายและช่วยให้เข้าใจการผ่าตัดได้ง่ายกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ประสบความสำเร็จภายหลังการผ่าตัด

3. การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด 2 สัปดาห์
  หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบก่อนการผ่าตัดทั้งทางกายภาพและด้านอื่นๆ แล้วสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนการผ่าตัด 2 สัปดาห์สุดท้าย คือ สามารถรับประทานอาหาร และเครืองดื่มได้ตามปกติ ทั้งนี้ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน รวมถึงควรหยุดหรือเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น Ibuprofen, Naproxen หรือ Aspirin เป็นต้น ก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะเลือดออกภายหลังการผ่าตัด
  แพทย์จะนัดวันและเวลาเพื่อเข้านอนโรงพยาบาล นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดจะมีการตรวจคลืนไฟฟ้าหัวใจ เอกซ์เรย์ปอด ตรวจเลือด และจะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวทั้งจากศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์ ในวันก่อนการผ่าตัด โดยห้ามรับประทานอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด

4. สิ่งที่จะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนวันผ่าตัด
  1) ควรวางแผนการลาพักงานอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัดเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับกระเพาะอาหารใหม่ได้ดี
  2) ควรวางแผน คนดูแลท่านอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
  3) ควรมีการเตรียมซื้อของที่จะใช้ในการปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดไว้ล่วงหน้า เพื่อที่กลับบ้านจะได้ทำได้เลย และเตรียมวิตามินที่ควรจะรับประทานหลังการผ่าตัดเมือกลับบ้าน
  4) ควรมีการเตรียมสถานที่การนอนพักผ่อนให้พร้อมเมือกลับบ้านที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด
  5) ควรมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกขณะนอนพักในโรงพยาบาล เช่น เครืองช่วยหายใจแรงดันบวก สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (หากใช้อยู่เป็นประจำขณะอยู่บ้าน) ยาประจำตัว อุปกรณ์อาบน้ำ เช่น สบู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากและแปรงผม เป็นต้น

COEMBS