ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์
การรักษาโรคอ้วนโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อไรจะเรียกว่า " อ้วน" หรือ "อ้วนลงพุง" สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในปัจจุบัน ทำไมต้องรักษา"โรคอ้วน" เกณฑ์ในการผ่าตัด การผ่าตัดโรคอ้วนจะช่วยรักษาอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของการผ่าตัดโรคอ้วน การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคอ้วน คุณจะต้องเจออะไรบ้างระหว่างช่วงนอนโรงพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการดมยาสลบ การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดกระชับรูปร่างภายหลังการผ่าตัดลดความอ้วน
The Center of Excellence in Metabolic and Bariatric Surgery Songklanagarind Hospital

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มาเข้ารับการระงับความรู้สึกหรือการดมยาสลบ

โดย แพทย์หญิงศิริกาญจน์ ศิริพฤกษ์พงศ์

การเตรียมผู้ป่วยระยะก่อนให้ยาระงับความรู้สึกที่หอผู้ป่วย
  ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป พูดคุยถึงแผนการดูแลรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในช่วงก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังการผ่าตัด รวมทั้งอธิบายถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ร่วมกับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว โดยทีมวิสัญญีแพทย์
  การซักประวัติและตรวจร่างกาย เน้นการประเมินภาวะใส่ท่อหายใจยาก ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) โดยใช้เครื่องมือคัดกรองภาวะหยุดหายใจขณะหลับเบื้องต้น (STOP BANG questionnaire) ซักประวัติเกี่ยวกับอาการเหนื่อยหอบขณะออกกำาลังกาย อาการเจ็บหน้าอกเป็นลมหมดสติ เพื่อประเมินภาวะโรคหัวใจแทรกซ้อน โรคกรดไหลย้อน โรคเบาหวาน กลุ่มอาการเมแทบอลิก (Metabolic syndrome) ประวัติเกี่ยวกับการเคยได้รับการผ่าตัดหรือให้ยาระงับความรู้สึก กรณีเคยได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป จะซักถามเกี่ยวกับความยากง่ายในการใส่ท่อหายใจ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การระงับความรู้สึก
  กรณีที่ประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะใส่ท่อหายใจยาก และ/หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง ทางทีมวิสัญญีจะจัดเตรียมอุปกรณ์พิเศษสำหรับใส่ท่อหายใจ เพื่อความปลอดภัยในการจัดการทางเดินหายใจ อาจพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจขณะตื่นร่วมกับการให้ยาระงับปวดและยาให้สงบคลายกังวล โดยทีมวิสัญญีจะให้ความรู้และคำอธิบายถึงโอกาสที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจขณะตื่น และการคาท่อช่วยหายใจหลังการผ่าตัด
  วันก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง พิจารณาให้สารนำ้ทางหลอดเลือดดำ เพื่อชดเชยการสูญู เสียน้ำ ขณะงดน้ำ งดอาหาร พิจารณาการให้ยาที่กินเป็นประจำว่า สามารถให้ต่อเนื่องในเช้าวันผ่าตัดได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการให้ยาลดความรุนแรงจากโอกาสการเกิดภาวะสูดสำลักอาหารเข้าปอด

กระบวนการดูแลระหว่างให้ยาระงับความรู้สึกที่ห้องผ่าตัด
  เมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องผ่าตัด จะเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป โดยต้องมีการยืนยันชื่อและการผ่าตัดที่ผู้ป่วยจะได้รับ ตรวจสอบบันทึกการรักษาจากหอผู้ป่วยว่า มีการเปลี่ยนแปลงอาการและการรักษาที่ได้รับหรือไม่ยาปฏิชีวนะที่ต้องให้ก่อนการผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่พึ่งทราบผล เป็นต้น จากนั้น ตรวจสอบการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และติดอุปกรณ์เพื่อเฝ้าระวังสัญญาณชีพ ได้แก่ วัดความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และบันทึกไว้เป็นค่าพื้นฐานก่อนเริ่มให้การระงับความรู้สึก
  จัดท่าให้ศีรษะผู้ป่วยสูงประมาณ 30 องศา เพื่อช่วยให้การใส่ท่อหายใจทำได้ง่ายขึ้น โดยการใช้หมอนและ/หรือผ้ารองหนุนบริเวณใต้ศีรษะ ไหล่ และกระดูกสะบักทั้ง 2 ข้างให้กระดูกหน้าอกอยู่ระดับเดียวกับหูของผู้ป่วย แล้วจึงผู้ป่วยจะหายใจผ่านทางหน้ากากด้วยออกซิเจน 100% อย่างน้อย 5 นาที จึงเริ่มให้ยานำสลบผ่านทางหลอดเลือดดำ สำหรับใช้เทคนิคการใส่ท่อหายใจขึ้นกับความยากง่ายของใส่ท่อหายใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจขณะตื่น การออกแรงกดที่กระดูกอ่อน cricoid เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดหรืออาหารในกระเพาะ ในขณะการนำสลบ หรือใช้เครื่องมือแบบมีจอภาพในการใส่ท่อหายใจชนิดวิดีทัศน์(video laryngoscope) ซึ่งเทคนิคที่ใช้นั้นขึ้นกับการตัดสินใจร่วมกันของผู้ป่วยและทีมวิสัญญี


  ในระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่เจ็บ ไม่รู้สึกตัว โดยจะเลือกใช้ยาที่ช่วยรักษาภาวะสลบ ยาระงับปวด และยาหย่อนกล้ามเนื้อที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น และมีฤทธิ์คงค้างในร่างกายน้อย โดยทีมวิสัญญีมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพ ให้ยาและสารน้ำอย่างเหมาะสมตลอดการผ่าตัด
  เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะค่อยๆ ตื่นจากภาวะสลบ และจัดท่าผู้ป่วยนอนศีรษะสูง 30 องศาในขณะถอดท่อช่วยหายใจ และเปิดทางเดินหายใจให้โล่งก่อนถอดท่อช่วยหายใจ โดยพิจารณาถอดท่อหายใจ เมื่อผู้ป่วยตื่น รู้สึกตัวดี ทำตามคำสั่งได้ สัญญาณชีพมีค่าปกติ ไม่มีฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อคงเหลือ สามารถหายใจเองได้เพียงพอ และมีปฏิกิริยาการตอบสนองของทางเดินหายใจ หลังถอดท่อช่วยหายใจจะให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากแก่ผู้ป่วยต่อไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที และให้ต่อเนื่องพร้อมทั้งวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากห้องผ่าตัดไปห้องพักฟื้น ร่วมกับการจัดท่าที่เหมาะสมเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เฝ้าระวังการหายใจ และอาการแสดงการอุดกั้นทางเดินหายใจ

กระบวนการดูแลหลังการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วตัวที่ห้องพักฟื้น
  ที่ห้องพักฟื้น ผู้ป่วยจะถูกจัดท่าโดยจัดท่านอนกึ่งนั่ง หลีกเลี่ยงการนอนราบหงาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ บันทึกอัตราการหายใจ ร่วมกับสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดและภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
  กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ และใช้เครื่องช่วยหายใจรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Continuous Positive Airway Pressure หรือ CPAP) ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ก็ควรใช้ต่อเนื่องหลังผ่าตัด เริ่มได้ตั้งแต่ที่ห้องพักฟื้นและใช้ต่อเนื่องที่หอผู้ป่วย
  ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาระงับปวดให้เพียงพอ เฝ้าระวังเรื่องภาวะกดการหายใจจากฤทธิ์คงค้างของยารักษาภาวะสลบและ/หรือยาระงับปวด และดูแลสายต่างๆ ไม่ให้เลื่อนหลุด
  ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยต่อเนื่องให้ทีมแพทย์และพยาบาลที่หอผู้ป่วย เกี่ยวกับแผนการระงับปวดหลังผ่าตัด การเฝ้าระวัง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ การสังเกตเฝ้าระวังการกดการหายใจ การเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด เป็นต้น

COEMBS