ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
การรักษาโรคอ้วนโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อไรจะเรียกว่า " อ้วน" หรือ "อ้วนลงพุง" สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในปัจจุบัน ทำไมต้องรักษา"โรคอ้วน" เกณฑ์ในการผ่าตัด การผ่าตัดโรคอ้วนจะช่วยรักษาอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของการผ่าตัดโรคอ้วน การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคอ้วน คุณจะต้องเจออะไรบ้างระหว่างช่วงนอนโรงพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการดมยาสลบ การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดกระชับรูปร่างภายหลังการผ่าตัดลดความอ้วน
The Center of Excellence in Metabolic and Bariatric Surgery Songklanagarind Hospital

การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด
(Life after Weight Loss Surgery)

โดย พว.เพ็ญศิริ คงบัน, นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์, นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล, คุณภัคจิรา เบญญาปัญญา, คุณพรพิษ เรืองขจร, คุณศิริมะโน ชูศรี

1. คำแนะนำจากศัลยแพทย์
  การติดตามผลการรักษา ศัลยแพทย์จะต้องการพบผู้ป่วยเป็นระยะๆ หลังผ่าตัด โดยปกติแล้วการติดตามอาการครั้งแรกจะนัดหนึ่งหรือสองสัปดาห์หลังผ่าตัด และจะติดตามในความถี่ที่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป (โดยปกติจะนัดทุก 3 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง และทุก 6 เดือน จนถึง 5 ปี หลังจากนั้นอาจนัดทุก 1-2 ปี)

2. อาหารระหว่างการฟื้นฟูสภาพ
  1) เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ฟื้นฟู ผู้ป่วยจะไม่ได้รับประทานอาหารในช่วง 1-3 วันหลังผ่าตัด แพทย์จะเริ่มให้รับประทานอาหารเหลวจากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาหารบด อาหารอ่อน จนสามารถรับประทานอาหารธรรมดาหรือข้าวสวยได้ โดยปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ของที่เคยรับประทานและอาหารที่บริโภคก็จะแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง
  2) การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ประมาณ 1,500-2,000 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งเท่ากับประมาณ 8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ภาวะการขาดน้ำเป็นภาวะที่อันตราย หากได้รับไม่เพียงพออาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดภาวะไตวายได้ วิธีปฏิบัติที่ง่ายคือ พยายามหาเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ ไว้ใกล้ๆ ตัว และค่อยๆ จิบทีละนิดทุก 15-20 นาที เพื่อให้ได้รับปริมาณที่เพียงพอ
  3) ช่วง 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องทานเฉพาะอาหารเหลว เช่น น้ำซุป หรือน้ำผลไม้ ปริมาณอาหารเหลวที่สามารถรับประทานได้ประมาณ 30 มิลลิลิตร หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง หรือจนรู้สึกแน่น แล้วให้หยุด
  4) ใน 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารชนิดที่ต้องปั่นละเอียด และต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง หรืออาจเติมโปรตีนชนิดผงผสมในอาหารได้ ซึ่งอาหารควรอยู่ในรูปแบบของอาหารบดเหลว ๆ แนะนำให้ทานครั้งละ 30 มิลลิลิตรหรือจนรู้สึกแน่น ให้หยุดจนหายแน่น หรือ ประมาณทุกๆ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานมากเกินหรือจนอาเจียน ในกรณีที่ไม่สามารถทานอาหารบดปั่นได้ แนะนำให้ใช้ อาหารทางการแพทย์ที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index)

  5) ในระยะ 2 - 4 สัปดาห์ จากอาหารเหลว สามารถเริ่มปรับเป็นอาหารข้นมากขึ้น หรืออาหารอ่อนค่อนเหลวได้ โดยการทานครั้งละ 90 - 100 มิลลิลิตรต่อมื้อ ควร กระจายเป็น 4 - 5 มื้อต่อวัน เนื่องจากผู้ป่วยมีกระเพาะอาหารที่เล็กลงไม่สามารถรับอาหารครั้งละมาก ๆได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น อาหารที่เหมาะในระยะนี้อาทิ ซุปข้น แกงจืด โยเกิร์ต ไข่ตุ๋น หรือโจ๊กเหลวก็ได้
  6) ในช่วง 4 - 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารอ่อนได้โดยอาจมีอาหารปกติผสมเข้าไปด้วยได้ อาทิเพิ่มเนื้อบดหยาบ เนื้อปลานึง หรือผักต้มได้ และสามารถปรับไปสู่อาหารปกติได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะทานอาหารได้ประมาณ 100 - 150 มิลลิลิตร 3 มื้อต่อวัน
  7) ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยมากและชิ้นใหญ่ ในช่วง 4 - 8 สัปดาห์แรก เช่น ผักสด หรือผลไม้ชิ้นใหญ่ ควรทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ ปรุงสุก นิ่มและเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
  8) ห้ามดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มทุกชนิด ระหว่างมื้ออาหารหรือภายในครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร< เพราะจะทำให้อาหารไหลผ่านกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการดูดซึมที่ไม่ดี และอาจเกิดอาการ Dumping syndrome ได้ หลังผ่าตัดจะมีนักโภชนาการมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการบริโภคหลังจากการผ่าตัด การทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จะส่งเสริมให้การลดน้ำหนักดียิ่งขึ้น และช่วยลดอาการข้างเคียงให้น้อยที่สุด

3. การดูแลแผลผ่าตัด
  โดยปกติก่อนกลับบ้าน แพทย์จะทำการเปิดดูแผลและเปลี่ยนที่ปิดแผลใหม่ เป็นชนิดที่สามารถกันน้ำได้ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องระมัดระวัง ถ้าที่ปิดแผลซึมหรือหลุด ให้รีบทำแผลใหม่ ส่วนใหญ่ แล้วแพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจดูแผลที่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผลอีก อาการบวม ช้ำ และมีเลือดจางๆ ซึมน้อยๆ เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าที่ปิดแผลเปลี่ยนเป็นสีแดงสด และเริ่มมีสิ่งคัดหลั่งออกมาปริมาณมากหรือเปลี่ยนสีหรือขุ่นขึ้น หรือมีอาการปวด แดงที่แผลมาก ควรติดต่อแพทย์ทันที หลังจากแผลหายสนิท (ประมาณ 2 สัปดาห์) สามารถทาครีมบนแผลเพื่อลดการเกิดรอยแผลเป็น ได้และถ้าแผลต้องโดนแสงแดดควรทาครีมกันแดดบนแผลด้วย ไม่ยกของหนัก หรือออกกำลังหนัก เช่น ยกน้ำหนัก วิ่ง ขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 4 สัปดาห์ การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้เมื่อรู้สึกพร้อม แต่ให้ระมัดระวังแผลผ่าตัดเป็นพิเศษ ถ้าไม่แน่ใจว่าพร้อมที่จะทำกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่ ให้ปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนเสมอ

4. ผลข้างเคียงในระยะแรกหลังผ่าตัด
  • อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังผ่าตัด หลังจากกระเพาะอาหารหายดีแล้ว คุณจะเรียนรู้ว่าอะไรที่กระเพาะอาหารรับได้หรือไม่ได้ ในการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน วิธีการรับประทานอาหารมีความสำคัญเท่าเทียมกับสิ่งที่รับประทาน หลีกเลี่ยงการดื่มและการรับประทานอาหารที่เร็วหรือมากเกินไป รับประทานคำเล็กๆ และเคี้ยวให้ละเอียด
  • ปวดเมื่อยตัว (หรือปวดแผล) จะหายเองตามเวลา ถ้าทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น Ibuprofen, Diclofenac หรือ Aspirin เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหาร หรือที่รอยต่อกระเพาะอาหารได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • อาการอ่อนเพลียหรือรู้สึกเหนื่อย จะหายเองตามเวลา โดยเฉพาะเมื่อสามารถรับประทานอาหารลดน้ำหนักได้อย่างลงตัว เมื่อรู้สึกพร้อมก็เริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายต่อไปได้
  • อาการหนาว อาจเกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกายที่ลดลงตามน้ำหนักตัวที่ลดลง และปริมาณไขมันที่ห่อหุ้มร่างกายมีน้อยลง
  • ท้องผูก แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยหรืออาหารเสริมกากใยและเคลื่อนไหวร่างกายก็มีส่วนช่วยได้
  • ท้องเสียหรือถ่ายเหลว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ไม่ควรรับประทาน อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง โดยไม่ได้แช่เย็น แต่ถ้ามีอาการมาก หรือสงสัยกลุ่มอาการดัมปิ้ง (Dumping syndrome) แนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์
  • แก๊สในช่องท้อง หรือท้องอืด ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊ส อาทิ ธัญพืช ถั่วชนิดต่างๆ นมสด นมถั่วเหลือง ผักตระกูลกล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง หอมใหญ่ เห็ด เป็นต้น
  • เสียงสำไส้และกระเพาะทำงาน ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญ เกิดจากการที่ระบบทางเดินอาหารบีบตัวขับลมออก วิธีการไม่ให้เกิดเสียงท้องร้องที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการกลืนลมเข้าไป เลี่ยงน้ำอัดลม เลี่ยงการดื่มหรือกินเร็วเกินไปและเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง แนะนำให้ใช้การดูดน้ำด้วยหลอด
  • กลุ่มอาการดัมปิ้ง (Dumping Syndrome) ส่วนมากเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบบายพาสเนื่องจากทำให้อาหารผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียมึนศีรษะ หน้าแดงและร้อน อาการปวดเกร็งช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ใจสั่นและอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย ซึ่งจะแสดงอาการหลังรับประทานอาหารทันทีหรือไม่นาน ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ โดยการปรับเปลี่ยนอาหารและวิธีการรับประทานอาหาร (สามารถปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการได้)
  • เชื้อราในช่องปาก เกิดจากผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ มีอาการคือ มีฝ้าขาวเคลือบลิ้น ลิ้นบวมแดง โรคเชื้อราในปากสามารถรักษาได้ด้วยยา จึงควรแจ้งแพทย์เมื่อมีอาการ
  • การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง เช่น สิว ผิวแห้ง อาการคันตามผิวหนังเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย การรับประทานอาหารและวิตามินที่เหมาะสมเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด การทาครีมและโลชั่นสามารถช่วยได้ดี แต่ถ้าอาการแย่มากควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
   • ผมหรือขนร่วง เกิดจากการลดน้ำหนักอย่างงรวดเร็ว แต่จะเกิดขึ้นชั่วคราว พบในผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ผ่าตัดลดน้ำหนักในปีแรก ซึ่งเกิดจากการขาดโปรตีนและวิตามินเป็นสำคัญ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการได้ด้วยการรับสารอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามิน ส่วนการ รักษาอื่น เช่น แชมพูหรือยาลดอาการผมร่วง ก็ช่วยได้เช่นกัน
  • สภาพอารมณ์แปรปรวน อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะรู้สึก กลัว ไม่มั่นใจหรืออารมณ์ขุ่นมัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและผลกระทบทางอารมณ์จากการเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนจะเป็นผู้ช่วยเหลือและบอกวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาทางด้าน อารมณ์ ในกรณีที่เป็นมาก โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า วิตกจริต ควรพามาพบจิตแพทย์โดยเร็ว

COEMBS