ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
การรักษาโรคอ้วนโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อไรจะเรียกว่า " อ้วน" หรือ "อ้วนลงพุง" สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในปัจจุบัน ทำไมต้องรักษา"โรคอ้วน" เกณฑ์ในการผ่าตัด การผ่าตัดโรคอ้วนจะช่วยรักษาอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของการผ่าตัดโรคอ้วน การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคอ้วน คุณจะต้องเจออะไรบ้างระหว่างช่วงนอนโรงพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการดมยาสลบ การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดกระชับรูปร่างภายหลังการผ่าตัดลดความอ้วน
The Center of Excellence in Metabolic and Bariatric Surgery Songklanagarind Hospital

ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด
(Weight regain after weight loss surgery)

โดย นายแพทย์สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล

  ภายหลังจากการผ่าตัด bariatric procedures น้ำหนักจะลดลงมาก ช่วง1-2 ปีแรก อัตราการลดลงของน้ำหนักจะเริ่มคงที่เมื่อผ่านไป 1 หรือ 2 ปี หลังจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุด 8-10 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยสามารถปฎิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด จะทำให้โอกาสที่จะกลับไปอ้วนอีกน้อยมาก การผ่าตัดชนิด malabsorptive procedures เช่น gastric bypass หรือ duodenal switch มีผลต่อการลดของน้ำหนักมากกว่า การผ่าตัดแบบ restrictive surgery เช่น gastric banding หรือ sleeve gastrectomy ประมาณ 10-15 เปอร์เซนต์

คำแนะนำในการป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มหลังผ่าตัด
  ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทุกคนควรระลึกเสมอว่า การผ่าตัดเป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการลดน้ำหนักเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการตั้งใจในการดูแลสุขภาพร่างกาย การกินอาหารที่ถูกต้อง ปริมาณเหมาะสม และ การออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้กลับมามีภาวะโรคอ้วนอีกครั้ง
  1. การควบคุมน้ำหนักตัวก่อนการผ่าตัด การมีความตั้งใจในการควบคุมน้ำหนักก่อนการผ่าตัดนอกจากจะส่งผลดีต่อการผ่าตัดช่วยให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะการควบคุมน้ำหนักภายหลังการผ่าตัดด้วย ฉะนั้น ผู้ป่วยควรตั้งใจควบคุมน้ำหนักก่อนการผ่าตัดอย่างจริงจัง ดัชนีมวลกายก่อนการผ่าตัด(BMI) มีความสัมพันธ์กับการควบคุม น้ำหนักระยะยาวหลังจากการผ่าตัด
  2. การรับประทานอาหารและน้ำภายหลังจากการผ่าตัด โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดผู้ป่วยไม่ควรรับประทานอาหารพร้อมกันกับน้ำ หรืออาหารเหลว เนื่องจากการทานน้ำร่วมกันกัจะทำให้อาหารผ่านลงสู่ลำไส้เร็วขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารว่างและกระตุ้นให้เกิดการหิว ดังนั้น ควรดื่มน้ำห่างจากมื้ออาหารประมาณครึ่งถึง 1 ชั่วโมง
  3. การควบคุมอาหารที่มีแคลอรี่สูง อาหารทานเล่น และ การดื่มแอลกอฮอล์ หลังการผ่าตัดควรปฎิบัติตามคำแนะนำของนักโภชนาการในการเลือกรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณ แคลอรี่สูง หรือเข้มข้น หลีกเลี่ยงการทานอาหารทานเล่น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด การรับประทานอาหารที่มีความเข้มข้นสูงอาจก่อให้เกิดภาวะ dumping syndrome ทำให้มีอาการปวดท้อง หรือ ร่วมกับ อาการ หน้ามืด เป็นลม หรือ ท้องเสียร่วมด้วย การดื่มแอลกอฮอล์ หลังผ่าตัด ควรระลึกไว้เสมอว่า แอลกอฮอล์ที่ดื่มไปนั้น สามารถผ่านลงสู่ลำไส้และดูดซึมได้เร็วกว่าปรกติมาก ทำให้เกิดการมึนเมา แม้ดื่มในปริมาณเล็กน้อยก็ตาม
  4. การออกกำลังกาย ภายหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรจะออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล ควรปรึกษาทีมแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด ในกรณีที่มีข้อกำจัดทางด้านร่างกาย เพื่อการออกกำลังกายที่ถูกวิธี
  5. การเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (bariatric supporting group) ภายหลังการผ่าตัดการมีปฎิสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และแรงจูงใจในการลดน้ำหนักได้อย่างดี มีรายงานว่า ผู้เข้าร่วมและมีปฎิสัมพันธ์ในกลุ่มจะมีโอกาสลดดัชนีมวลกายมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมถึง 10 เปอร์เซนต์ การเข้าร่วมกลุ่มช่วยให้ผู้ป่วยคลายกังวลภายหลังจากการผ่าตัด
  6. มาตามนัดกับแพทย์ทุกครั้ง แพทย์และนักโภชนาการจะเฝ้าติดตาม การลดของน้ำหนักผู้ป่วยเป็นระยะๆ หากน้ำหนักไม่ลดลงตามที่ควรจะเป็น จะทำการสืบสวนหาสาเหตุและแก้ไขได้ในระยะแรกๆ
  7. การตรวจประเมินภายหลังผ่าตัด เมื่อผ่าตัดครบ 1 ปี ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินขนาดกระเพาะอาหาร และเส้นรอบวงรอยต่อ โดยการทำการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (flexible esophagogastroduodenoscopy) หากพบว่ารอยต่อมีการขยายมาก หรือกระเพาะอาหารมีการขยายมาก อาจจำเป็นต้องทำการลดขนาดรอยต่อ หรือ ลดขนาดกระเพาะอาหาร เพิ่มเติม

การผ่าตัดในกรณีที่เกิดการเพิ่มของน้ำหนักตัวหลังจากการผ่าตัดครั้งแรก (Revision surgery)
  ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้จากการขยายของกระเพาะอาหาร แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารที่ขยาย หรือ เพิ่มการผ่าตัดเพื่อลดการดูดซึม (malabsorptive procedure) เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยทำการผ่าตัดลดขนาดกระเอาหาร (sleeve gastrectomy) อาจเปลี่ยนเป็นผ่าตัดแบบบายพาส (gastric bypass) หรือ พิจารณาเย็บกระเพาะอาหารให้เล็กลงโดยการทำ gastric plication ในกรณีที่ผู้ป่วยทำบายพาสมาก่อน แพทย์อาจพิจารณา เพิ่มความยาวของลำไส้ในส่วนที่ bypass เพื่อหวังผลให้เกิดการลดการดูดซึมที่มากขึ้น
  อนึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังการผ่าตัดควรได้รับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ นักโภชนาการ รวมถึงนักกายภาพบำบัด ร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย ไม่ควรไปหาซื้อผลิตภัณฑ์ หรือ ยาในการลดน้ำหนักมาทานเอง เนื่องจากการย่อย และการดูดซึม ภายหลังการผ่าตัดไม่เหมือนภาวะปรกติ อาจก่อให้เกิดผลเสีย และภาวะทุพโภชนาการ ขาดไวตามิน หรือ แร่ธาตุบางชนิดได้

COEMBS