ปัจจุบัน การเจ็บป่วยและเสียชีวิต (ก่อนวัยอันควร) ของคนไทยมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) และปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น การศึกษาภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2552 พบว่า “ โรคอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงและภัยเงียบสำคัญ อันดับ 1 และอันดับ 6 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในหญิงไทย และชายไทย ผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทย มีจำนวนมากขึ้น และกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานผลการสำรวจ
•ในปี พ.ศ. 2550 ในกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 55 ล้านคน และมีปัญหาโรคอ้วน
น้ำหนักเกินมาตรฐาน ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งติดอันดับ 5 ใน 14 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก
•ในปี พ.ศ. 2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มากกว่า 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกิน
(ดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index; BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2
ขึ้นไป) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และพบผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป) มากถึง 1 ใน 10 คน โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับผลการสำรวจรอบแรก ในปี พ.ศ. 2534
สำหรับภาคใต้ จากผลสำรวจปี พ.ศ. 2551-2552
พบว่าอุบัติการณ์ความชุกของภาวะอ้วนโดยรวม อยู่ที่ร้อยละ 34 โดยมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคอ้วนสูงขึ้นทุกปี
เอกสารอ้างอิง
(1) โครงการสุขภาพคนไทย. 2557. ตัวชี้วัด “โรคอ้วน”. สุขภาพคนไทย 2557 (หน้า 6-32). นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
(2) วิชัย เอกพลากร (บรรณาธิการ). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557.
นนทบุรี : สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย/สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; 2559.