ภาวะดื้อต่ออินซูลินมีความสัมพันธ์กับความอ้วน มีเพียงประมาณ 20% ของผู้ที่อ้วนเท่านั้นที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน นอกจากอ้วนแล้วภาวะดื้อต่ออินซูลินยังเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง ไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง และไขมันเอชดีแอล(HDL-C) ซึ่งเป็นไขมันที่ดีให้ลดลงด้วย
ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) เป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัว ขณะที่มีอายุน้อยๆจะยังไม่แสดงอาการ นอกจากจะมีปัจจัยมากระตุ้นให้อาการแสดงออกเร็วขึ้น ปัจจัยนั้นคือความอ้วนหรืออ้วนลงพุง เพราะการที่มีไขมันสะสมอยู่ที่พุงมากจะยิ่งทำให้ระดับความดื้อต่ออินซูลินเพิ่มสูงขึ้น
ผลเสียของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
1. ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง การที่น้ำตาลในเลือดสูงจะช่วยเร่งให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเร็วขึ้น เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น 2-3 เท่าตัว
2. ทำให้ผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติหลอดเลือดยืดหยุ่นน้อยลงเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตสูง การอักเสบของหลอดเลือด และโรคเบาหวาน
3. ลดประสิทธิภาพของร่างกายในการละลายเลือดที่แข็งตัว เป็นที่มาของภาวะหลอดเลือดตีบตัน
4. ทำให้เกิดผลึกไขมัน ( Plaque ) ที่หลอดเลือดเร็วขึ้น นำไปสู่การเกิดหลอดเลือดตีบตันเร็วขึ้น
5. ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดสูง จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ คนอ้วนแทบทุกคนมีระดับอินซูลินในเลือดสูง
การป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน
1. ควบคุมปริมาณพลังงาน และชนิดของอาหารในแต่ละวันควรเหมาะสม สมดุลกันโดยเฉพาะอาหาร
ประเภท น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อาทิ กาแฟ ชาเย็น ชาไข่มุก น้ำอัดลม รวมถึงแป้งแปรรูป กลุ่มเบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ แป้งที่นำมาทอดเช่น กะหรี่พัฟ ปาท่องโก๋ ข้าวเม่า เป็นต้น
2. การควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์3
4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด